
ประเภท : กรณีศึกษา
โดย : มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
สร้างเมื่อ : 12-Jan-2016
จำนวนเข้าชม 127 ครั้ง
ชื่นชอบ 0 ครั้ง
วันนี้ขอเชิญชวนร่วมรำลึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเมืองไทยไปพร้อม ๆ กับวาระโอกาส วันลอยกระทง และขอถือการนี้อำนวยอวยสุขให้สถิตย์แด่ทุกท่าน
คราวเมื่อวันเพ็ญเดือนสิบสอง ราวสามปีที่แล้วนั้น มีข่าวกรอบเล็ก ๆ ว่าด้วยการออกหลักเกณฑ์ประกวดกระทงในประเพณียี่เป็งของชาวเชียงใหม่ ว่า
"ห้ามมิให้กระเทยนั่งในกระทงที่ส่งเข้าประกวด โดยอนุญาตให้แต่เฉพาะสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษเท่านั้นที่สามารถนั่งประกอบในกระทงได้"
ยังมาซึ่งความเดือดเนื้อร้อนใจจนเป็นเหตุให้ เกิดกรณียื่นฟ้องนายกเทศมนตรีฯ ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพราะขัดต่อหลักความเสมอภาค ตามมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยตัวเเทนกลุ่มเพศที่สาม ในนาม "เชียงใหม่อารยะ"
คดีนี้มีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับหลักความเสมอภาคของมนุษย์โดยตรง เพราะมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญฯ ได้บัญญัติในเรื่องความเสมอภาคไว้ว่า
“บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” วรรคสองบัญญัติว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” วรรคสามบัญญัติว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่าง ในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกาย หรือ สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือ ความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้” และวรรคสี่ บัญญัติว่า “มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม”
ท้ายที่สุดแล้วศาลปกครองเชียงใหม่ได้วินิจฉัยว่า การจัดงานประเพณีลอยกระทงนั้น ถือเป็นการบำรุงรักษาจารีตประเพณีและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นซึ่งจะต้องดำเนินการบนพื้นฐานการให้โอกาสประชาชนทุกคนในท้องถิ่นนั้นได้เข้ามามีส่วนร่วม
การกีดกันกลุ่มบุคคลประเภทใดประเภทหนึ่งในท้องถิ่นไม่ให้มีส่วนร่วมด้วยเหตุสภาพทางกายหรือจิตใจที่เป็นกะเทยหรือเกย์ ย่อมเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์จารีตประเพณีในชุมชนซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้
ประกาศของเทศบาลนครเชียงใหม่ในส่วนที่ระบุให้เฉพาะสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษนั่งในกระทงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คดีหมายเลขแดงที่ ๒๑๑/๒๕๕๔)
แล้วก็จบเรื่องกันตรงที่ศาลชั้นต้น เนื่องจากเทศบาลนครเชียงใหม่ไม่อุทธรณ์ และยอมเปลี่ยนข้อความในหลักเกณฑ์จากคำว่า “สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ” มาเป็น “สุภาพชน” แทน
คำตัดสินครั้งนั้นนับเป็นการลั่นระฆังเตือนไม่ให้หน่วยงานด้านปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่สนใจหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล หรือ กลุ่มบุคคลใดใดอีก
วันลอยกระทงนี้จึงนับเปป็นฤกษ์งามยามดี ที่เราทุกคนควรเริ่มต้น เฝ้ามอง จับตากันอย่างจริงจังไม่ให้มีการตีตราและเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในสังคมไทยไปด้วยกันกับมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ด้วยการนำเสนอสถานการณ์หรือเรื่องราวการถูกตีตรา และเลือกปฏิบัติในทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มประชากร
เราทุกคนเป็นยอดมนุษย์ได้ เพียงไม่ตีตราและเลือกปฎิบัติ
ขอได้รับความสุขไปพร้อมกัน