มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
Foundation for AIDS Rights THAILAND
การปฏิเสธการรับเข้าทำงาน การบังคับตรวจเลือดก่อนเข้าทำงาน หรือระหว่างทำงาน เป็นสถานการณ์ปัญหาที่ผู้อติดกับเชื้อเอชไอวีเจอ เมื่อการงานนำพามาซึ่งรายได้ การถูกปฏิเสธ และการตรวจเลือดก่อนเข้าทำงาน จึงเปรียบเหมือนกำแพงอันใหญ่ที่ขวางทางไม่ให้ผู้ติดกับเชื้อเอชไอวีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แฟรรี่ หนึ่งในผู้ติดเชื้อเอชไอวี เคยต้องพับความฝันที่อยากจะเข้าเรียนในสายคหกรรม และเปิดร้านคาเฟ่เป็นของตัวเอง เพียงเพราะได้ข้อมูลมาว่ามีการตรวจเลือดก่อนเข้าเรียน ในตอนนั้นเธอรู้ดีว่าเอชไอวีไม่ได้ติดต่อจากการสัมผัส หรือติดต่อผ่านอาหาร แต่ก็ตัดสินใจไม่เลือกเรียนในสายคหกรรม ทั้งที่เกิดคำถามในใจว่าทำไมต้องใช้การตรวจเลือดเข้ามาเป็นเงื่อนไขในการเข้าเรียน อย่างไรก็ตาม แฟรรี่ยังไม่ทิ้งความหลงใหล่ในการทำอาหาร และบอกกับเราว่าถ้ามีโอกาสเธอจะเปิดร้านของตัวเองในสักวันหนึ่ง
แฟรรี่ก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานตั้งแต่อายุ 18 ปี เธอก็เหมือนเด็กสาวทั่วไปต้องการหารายได้มาใช้จ่ายส่วนตัว ซื้อของที่ตัวเองอยากได้ โดยไม่ต้องรบกวนครอบครัว โดยงานที่เธอเลือกทำนั้นเป็นงานพาร์ททามไม่เต็มเวลา เพื่อจะได้ไม่รบกวนการเรียน และที่สำคัญเป็นตำแหน่งที่ไม่มีเงื่อนไขในการตรวจเลือดก่อนรับเข้าทำงาน
จนปัจจุบันแฟรรี่ยังทำงานเป็นพนักงานพาร์ททามให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ด้วยความที่เป็นคนอยู่ไม่สุข เธอจึงเรียนรู้งานจากตำแหน่งอื่นๆ จนสามารถทำแทนได้ หัวหน้างานเห็นข้อดีของเธอ จึงเสนอให้เธอส่งประวัติไปยังสำนักงานใหญ่เพื่อเข้าเป็นพนักงานประจำ ตอนนั้นแฟรรี่ก็สนใจที่จะส่งประวัติไป แต่เมื่อพบว่าจะต้องตรวจเอชไอวีเธอจึงเปลี่ยนใจ
“…พี่หัวหน้าก็ถามนะ ว่าทำไมไม่ส่งประวัติไป ใจจริงหนูก็อยากส่งไปแหละแต่ก็ได้แต่ตอบว่า ‘ไม่เอาหรอกพี่ หนูอยู่ตรงนี้สบายใจกว่า ชอบวุ่นวายๆวิ่งไปวิ่งมาแบบนี้แหละ’…”
เธอยอมรับว่ารู้สึกกลัวเมื่อเห็นเงื่อนไขการตรวจเลือด ส่วนตัวเธอไม่กลัวเรื่องการเปิดเผยสถานะของตัวเอง เพราะคิดว่าเธอสามารถจัดการกับผลกระทบเกิดขึ้นกับตัวเองได้ แต่เธอกลัวผลที่เกิดขึ้นกับครอบครัวมากกว่า เพราะถึงแม้ว่าในครอบครัวจะรู้ว่าเธอเป็นผู้ติดเชิ้อเอชไอวี แต่ไม่รู้ว่าพวกเขาจะรับมือผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดหลังขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่เธอเลือกจะปล่อยให้โอกาสนี้หลุดไป
สำหรับแฟรรี่ การตรวจเลือดเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเอามาเป็นเงื่อนไขในการรับเข้าทำงาน เธอมองว่าสำหรับคนที่มีความสามารถมีความฝัน พร้อมทำงาน พอมาเจอว่าไม่ได้ทำงานเพราะผลเลือด มันทำให้สิ่งที่เขาพยายามาทั้งหมดสูญเปล่า หนักกว่านั้นคือการทำให้เขารู้สึกไม่มีค่า ไร้ความหมาย ดังนั้นเราควรมองข้ามเรื่องผลเลือดไปมองเรื่องศักยภาพความสามารถมากกว่า
“…แค่มองผู้ติดเชื้อเป็นคนธรรมดา คนธรรมดาไม่ได้ต้องการสิทธิประโยชน์พิเศษอะไร เราก็แค่ต้องกินยาทุกวัน ดูแลสุขภาพตัวเอง สมมุติว่าหนูไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ แต่หนูก็อาจเป็นเบาหวาน เป็นความดัน ต้องดูแลสุขภาพ หาหมอไม่ต่างกันอยู่ดี ดังนั้นการรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้ามาทำงาน เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร ไม่จำเป็นจะต้องให้สิทธิเศษอะไรกับเราเลย แค่รับเราเข้าทำงานแบบคนทั่วไป มองที่ความสามารถ…”
ในประเทศไทยมีการออกแนวปฏิบัติ เรื่องการบริหารกจัดการเรื่องเอชไอวี เอดส์ในที่ทำงานห้ามไม่ให้หน่วยงานตรวจเลือดพนักงาน และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2550 ที่ให้หน่วยงานให้โอกาสผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้พิการ และผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดที่พ้นสภาพ เข้าศึกษาหรือทำงานในหน่วยงาน แต่ยังพบว่าในยังมีหน่วยงานองค์กร อีกมากมายที่ตรวจเลือดผู้สมัครเข้าทำงาน แฟรรี่ให้ความเห็นว่านโยบายที่ออกมานี้ยังเป็นแค่การขอความร่วมมือเท่านั้น ไม่ได้กำหนดให้หน่วยงานต้องทำ หรือมีบทกำหนดโทษ ทำให้เงื่อนไขการตรวจเลือดยังคงมีอยู่
“…ถ้าหนูได้เป็นเจ้าของกิจการ แน่นอนว่าไม่ตรวจเลือดพนักงาน และก็จะจัดเวิร์คช็อปให้กับพนักงานทุกคน มาคุยกัน ทั้งเรื่องเอชไอวี เรื่องความหลากหลายทางเพศ และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆด้วย…”
ก่อนที่จะจบการสัมภาษณ์ เราได้ให้แฟรรี่ฝากอะไรถึงเพื่อนผู้ร่วมกับเชื้อที่กำลังสมัครงาน อยู่ในตอนนี้ เธออยากให้พวกเขาเดินหน้าต่อไป ถึงในตอนนี้ยังไม่สามารถสมัครงานที่ต้องการได้แต่อยากให้รู้ว่า มันมีทางเลือกอื่นๆยังไปได้อยู่ และที่สำคัญยังมีหน่วยงาน กลุ่มคนที่คอยให้ความช่วยเหลือหากมีปัญหาก็สามารถขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาได้
“อันดับแรกเราต้องยอมรับตัวเอง รู้จักตัวเอง และดูแลตัวเองให้แข็งแรง เข้มแข็ง ก็ให้เดินหน้าต่อ อยากพึ่งไปท้อเอาการโดนปฏิเสธมาด้อยค่าตัวเอง มันมีทางอื่นที่เราไปได้ ถ้าไม่ได้ทางนี้เราก็ไปอีกทาง แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะทไอย่างไร ก็มีหน่วยงาน กลุ่ม เครือข่าย ที่คอยช่วยเหลือคุณอยู่”