มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
Foundation for AIDS Rights THAILAND
ถุงยางอนามัยฟรีกว่า 94.5 ล้านชิ้นในปี 2566 คือ ทางออกหนึ่งที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยากพิสูจน์ว่าพวกเขาสามารถดูแลประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจากการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เริ่มต้นตั้งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สปสช. เริ่มที่ “หน่วยบริการระบบบัตรทอง” ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนไปขอรับที่หน่วยบริการ หรือรับผ่านแอปเป๋าตัง หรือรับจากตู้จ่ายถุงยางอนามัยอัตโนมัตินอกหน่วยบริการ ซึ่งพวกเขาได้นำร่อง 3 จุดในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี คือ ท่าเรือแหลมบาลีฮาย 2 เครื่อง และ รพ.เมืองพัทยา 1 เครื่อง และหากว่าได้รับเสียงตอบรับที่มีจากผู้ใช้บริการ ก็มีแผนจะขยายทั่วประเทศในภายหลัง
และไม่เพียงแค่ถุงยางอนามัย สปสช. คาดหวังว่าจะมีการบริการด้านการคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย ยาฉีดและฝังคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน พร้อมทั้งส่งต่อความรู้ให้กับประชาชนผ่านความร่วมมือของสภาเภสัชกรรม องค์กรเภสัชกรรม และคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์
รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ เคยกล่าวไว้ว่า “นอกจากการจำหน่ายยาและอุปกรณ์ เภสัชกรเองก็ควรให้ความรู้ประชาชนด้วย เพราะยาแต่ละประเภทจะส่งผลต่อร่างกายของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน เภสัชกรควรสอบถามเพื่อเลือกยาคุมในแบบที่เหมาะสมให้กับประชาชน แถมในปัจจุบันก็มีการใช้ยาคุมด้วยวัตถุประสงค์หลายแบบ นอกจากนี้ ประชาชนควรได้รับช่องทางการติดต่อกลับมายังเภสัชกร เพื่อปรึกษาหารือและสอบถามได้หลังได้รับยาไป … ถุงยางอนามัยก็เช่นกัน เพื่อให้การใช้ถุงยางเป็นไปอย่างถูกต้อง มีขนาดที่เหมาะสม ตอบโจทย์ปัญหาที่ประชาชนแต่ละคนมีอยู่”
แม้ว่าจากรายละเอียด การรับบริการนี้จะยังไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม แต่อยากชวนให้ได้ลองใช้สิทธิ์กัน ทั้งยาคุมกำเนิด และถุงยางอนามัย
1. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน สำหรับหญิงไทย อายุ 15 -59 ปี ครั้งละไม่เกิน 3 แผง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ให้บริการ คนละไม่เกิน 13 แผง/ปี
1.1 เลือกรับบริการยาคุมกำเนิดได้ 2 วิธี
ผ่านสมาร์ทโฟน ขอรับผ่านแอปเป๋าตัง
• เมนู “กระเป๋าสุขภาพ”
• เลือก “สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค”
• ผู้หญิง 15 -59 ปี จะแสดงสิทธิ “ยาเม็ดคุมกำเนิด”
• ค้นหาหน่วยบริการ และทำการจองคิว
• ไปรับยาคุมกำเนิดภายในวันที่จองคิว ตามเวลาทำการของหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ร้านขายยา คลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาลฯ เป็นต้น
1.2 หากไม่มีสมาร์ทโฟน
• ใช้บัตรประชาชนไปรับยาคุมกำเนิด ณ หน่วยบริการที่เข้าร่วม
•ดูรายชื่อที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/page/hospital
•เลือกประเภทการขึ้นทะเบียนที่ระบุว่า บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค
2. ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ไม่เกิน 2 แผง/ปี เพศหญิง อายุ 10-24 ปี
ขอรับผ่านแอปเป๋าตัง
• เมนู “กระเป๋าสุขภาพ”
• เลือก “สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค”
• เลือก “การคุมกำเนิด” ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน
• ค้นหาหน่วยบริการ และโทร.นัดหมายเพื่อเข้าไปรับยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน
3. ถุงยางอนามัย
ครั้งละ 10 ชิ้น/คน/สัปดาห์ ไม่เกิน 52 ครั้ง/คน/ปี
ขอรับผ่านแอปเป๋าตัง
• เมนู “กระเป๋าสุขภาพ”
• ให้บริการ 4 ขนาด ได้แก่ 49 มม. 52 มม. 54 มม. และ 56 มม
และเมื่อเริ่มต้นจากเมืองพัทยา จำรอง แพงหนองยาง รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (swing) มูลนิธิที่ส่งเสริมทั้งพนักงานบริการ และ LGBTQ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิ ความปลอดภัย และบริการด้านสุขภาพ ก็ยินดีที่ภาครัฐเริ่มต้นพัฒนาเรื่องนี้ในเชิงรุก เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ในหลากหลายรูปแบบ แม้สำหรับเขาแล้ว สิทธิ์นี้จะยังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม อาทิ พนักงานบริการ ซึ่งไม่สะดวกในการเปิดเผยตัวตน แต่การจ่ายถุงยางยังคงต้องใช้บัตรประชาชนยืนยัน ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดให้บริการเช่นนี้ ยังกระจายไปไม่ถึง ยังไม่รวมประชาชนกลุ่มที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน หรือไม่สามารถมีบัตรประชาชนได้
น่าจับตามองว่า ในอนาคต ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะพัฒนาศักยภาพของบริการนี้ให้ดำเนินไปอย่างไร อย่างไรก็ตาม นี่คือโอกาสที่เราจะได้รับการสนับสนุนเพื่อคุณภาพชีวิต แบบที่มีทางเลือกมากขึ้น