สวัสดิการตอนนี้ คุ้มครองประชาชนได้แค่ไหน?

สวัสดิการตอนนี้ คุ้มครองประชาชนได้แค่ไหน? ... ชวนมองรูโหว่ของรัฐไร้สวัสดิการผ่านเคสแรงงานข้ามชาติ

อาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อธิบายไว้ในหนังสือ “แด่ทุกต้นกล้าความฝัน” ไว้ว่า สวัสดิการสังคม มีส่วนในการกำหนดความสัมพันธ์ชีวิตคนในสังคม ผ่านเศรษฐกิจ กลไกการตลาด อำนาจของแรงงาน การเข้าถึงทรัพยากร และโอกาสอีกสารพัดที่ประชาชนจะได้รับ

ถ้าเป็นสวัสดิการแบบ “ระบบประกันสังคม” จะมีผู้รับผิดชอบหลักเป็นบริษัทหรือนายจ้าง งบประมาณสวัสดิการจึงขึ้นอยู่กับต้นทุนของบริษัท ต่างจากสวัสดิการแบบ “รัฐสวัสดิการ” ที่ภาครัฐจะมอบสวัสดิการภายใต้สิทธิการเป็นพลเมือง รายได้หลักของสวัสดิการคือภาษี และมีลักษณะแบบถ้วนหน้า

ในรัฐสวัสดิการจะมีรัฐมาช่วยเป็นตัวกลางระหว่างองค์กรและคนทำงาน เพื่อกำหนดเงื่อนไขคุ้มครองสิทธิที่ประชาชนควรได้ ส่วนในระบบประกันสังคมจะมีการพิจารณาว่า กลุ่มทำงานใดเหมาะสำหรับสวัสดิการมากน้อยเพียงใด มักมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและบริษัทเป็นเงื่อนไขร่วม ทำให้มีโอกาสกระทบอำนาจการต่อรองของแรงงาน เป็นการผลิตซ้ำวัฒนธรรมกึ่งอำนาจนิยมในตลาดแรงงาน

สวัสดิการที่ต่างย่อมทำให้แนวคิดและวิธีการดำรงชีวิตของประชาชนต่างกัน

ดังเช่นเมื่อไม่นานมานี้ มีเคสที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับ “ประกันสังคม” แจ้งขอความช่วยเหลือเข้ามายังมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ บุคคลสัญชาติพม่าผู้นี้อาศัยอยู่ในจังหวัดชลบุรีและกำลังตั้งครรภ์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สามีของตนเสียชีวิตลง ตนจึงไม่ประสงค์จะอยู่ประเทศไทยต่อไป ต้องการกลับไปยังประเทศบ้านเกิด

สามีผู้เสียชีวิตมีประกันสังคม และเพื่อนร่วมงานก็ได้แนะนำให้ประสานกับนายจ้าง เพื่อดำเนินการเบิกค่าทำศพ นายจ้างรับปากตนว่าจะดำเนินการให้ แต่นานกว่าเดือนหนึ่งแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า ตนจึงโทรหามูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เพื่อขอคำแนะนำและช่วยดำเนินการตามกฎหมาย

โดยสรุปคือ ยังขาดใบมอบอำนาจจากบิดามารดาผู้เสียชีวิต ให้ผู้ใหญ่บ้านฝั่งพม่าออกใบรับรอง และให้สถานทูตพม่าในไทยรับรอง เมื่อเอกสารครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จึงได้ดำเนินการยื่นเอกสารใหม่ให้กับสำนักงานประกันสังคม

จากเคสนี้ เรามีข้อสังเกตว่า ตามหลักแล้วจะต้องเป็นนายจ้างมิใช่หรือ ที่ให้ความช่วยเหลือ ดำเนินการให้กับลูกจ้างซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตให้ได้เข้าถึงสิทธิ

ยิ่งเมื่อลูกจ้างเป็นคนข้ามชาติ ยิ่งมีความซับซ้อนในการดำเนินการหลายขั้นตอน ไม่ใช่ว่าการมีประกันสังคมเป็นเรื่องไม่ดี แต่คำถามคือ หากมีรัฐสวัสดิการช่วยหนุนจะดีกว่านี้หรือไม่ ? สวัสดิการที่ไม่ต้องเรียกร้องและผ่านเงื่อนไขอันซับซ้อนก็สามารถเข้าถึงได้ สวัสดิการที่เราทุกคนเป็นเจ้าของโดยไม่ต้องขออนุญาต เงินภาษีที่จ่ายได้ตอบแทนเราโดยตรงอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่สำหรับพวกเราที่อยู่ในประเทศไทย ถ้ารู้สึกว่าสถานการณ์จากเคสนี้ไม่ได้แย่ขนาดนั้น อาจเพราะเราอยู่กับความเหลื่อมล้ำมาเนิ่นนานจนคุ้นเคย และไม่ค่อยได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าซึ่งทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากกว่า ท่ามกลางความหวาดกลัวของกลุ่มคนชนชั้นบนและกลางที่ว่า หากให้สวัสดิการมากไป คนจะขี้เกียจและไม่ยอมทำงาน ก็นับว่ายังมีอีกหลายด่านกว่ารัฐไทยจะเดินทางไปถึง (และไม่แน่ใจว่าอยากไปถึงบ้างหรือไม่) เพราะการจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ ต้องเริ่มต้นจากการมองว่า “คนเท่ากัน” ก่อน แล้วค่อย ๆ วางเงื่อนไขและนโยบายต่าง ๆ เพื่อตอบรับสิ่งที่ “ทุกคน” ต้องการอย่างเป็นมิตร


สุดท้ายนี้ เราอยากบอกว่า ไม่เคยมีสังคมไหนล่มสลายเพราะประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างเท่าเทียมกันมาก่อน มีเพียงประเทศที่รัฐเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องความยุติธรรมเท่านั้น ที่ในท้ายที่สุดก็โดนโค่นล้มไป