ทำอย่างไรหากถูก ‘เลิกจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม’ ?

ที่ผ่านมา ความเข้าใจเรื่องการจ้างงานมักถูกมองว่า อยู่ในอำนาจและการตัดสินใจเฉพาะของนายจ้างเสียส่วนมาก แต่ความจริงลูกจ้างหรือแรงงานก็สำคัญและมีกฎหมายคุ้มครองไม่ต่างกัน

การที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง โดยให้สาเหตุที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น มีความรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจเป็นการส่วนตัว หรือลูกจ้างทำผิดกฎระเบียบเพียงเล็กน้อย ไม่ได้กระทบต่องานใหญ่หลวง แล้วนายจ้างตัดสินใจเลิกจ้าง ถือเป็นการเลิกจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรมได้ทั้งนั้น 

หรือหากมีการเลิกจ้าง แล้วนายจ้างไม่ได้แจ้งล่วงหน้า , ไม่ได้รับผิดชอบค่าชดเชย , ไม่ได้จ่ายค่าชดเชยพิเศษ ไม่ว่าจะในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ หรือกรณีปรับปรุงหน่วยงานโดยนำเอาเครื่องจักรมาใช้แทนกำลังแรงงานคน ก็นับว่าไม่เป็นธรรมเช่นกัน

เพราะการที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้ ต้องมีเหตุผลอย่าง ลูกจ้างทุจริต สร้างความผิดพลาดหรือทำให้กิจการเสียหายหนัก ลูกจ้างมีพฤติกรรมอันตราย หรือกิจการขาดทุน ทำให้จำเป็นต้องยุบหน่วยงานนั้น ๆ เหล่านี้นายจ้างจึงจะสามารถตัดสินการเลิกจ้างได้ และศาลก็ยอมรับว่าเป็นธรรม

และหากเรารู้ตัวว่า เราถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม จะทำอย่างไรได้บ้าง ?

1. สามารถร้องเรียนไปยังพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ หรือใช้สิทธิทางศาลได้ โดยไม่ต้องใช้ทนายความ และไม่มีค่าใช้จ่าย

      1.1 หากศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างยังสามารถทำงานร่วมกันต่อ ศาลอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไป ในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง
      1.2 หากศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อ ศาลจะกำหนดค่าเสียหายที่นายจ้างจะต้องชดใช้ให้ลูกจ้าง โดยกำหนดจากอายุลูกจ้าง , ระยะเวลาการทำงาน ,

           ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง , สาเหตุการเลิกจ้าง และเงินชดเชยที่ลูกจ้างควรได้รับ

2. หากมีสวัสดิการประกันสังคม ลูกจ้างควรไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อรับประโยชน์จากประกันสังคม

3. หากมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายจ้างต้องคำนวณและจ่ายทั้งหมดในคราวเดียว ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพ โดยนายจ้างไม่สามารถหักเงินกองทุนนี้ของลูกจ้าง เพื่อชำระหนี้หรือชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ 

คดีความเมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม เกิดขึ้นโดยตลอดและบ่อยครั้ง นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับผู้ที่อยู่ในฐานะนายจ้าง และโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในฐานะลูกจ้าง เพื่อให้เกิดการปกป้องคุ้มครอง รักษาสิทธิ และผลประโยชน์ที่ตนควรได้รับ และหากต้องการขอคำปรึกษาเบื้องต้น ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร สามารถโทรหาสายด่วยมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ได้เช่นกัน