เอชไอวี / เอดส์ / อคติ ความหวาดกลัวแบบผิด ๆ ที่กลับกลายเป็นอุปสรรคในการยุติปัญหา

เอชไอวี / เอดส์ / อคติ
ความหวาดกลัวแบบผิด ๆ ที่กลับกลายเป็นอุปสรรคในการยุติปัญหา

โดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์

ประเด็นสำคัญ

- การมีเชื้อเอชไอวี ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นเอดส์
- คนที่เป็นเอดส์ ไม่ได้ตายเพราะเชื้อเอชไอวี แต่ตายเพราะโรคติดเชื้อฉวยโอกาส
- การตรวจพบเชื้ออย่างทันท่วงที เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อได้(โดยไม่แพร่เชื้อต่อ) ดังเช่นคนปกติทุกประการ รวมถึง “มีบุตร” ได้ ในภาวะที่เรียกว่า U=U
- การได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง ทำให้ผู้ที่มีภาวะเอดส์(ภาวะภูมิคุ้มกันล้มเหลว) สามารถหายป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส และกลับมามีภูมิคุ้มกันในระดับที่เหมาะสม ในภาวะ U=U ได้เหมือนกับผู้ได้รับเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาพยาบาลในทันที
- ความหวาดกลัวแบบผิด ๆ ของเรา คือปัญหาที่แท้จริง ที่ทำให้การยุติเอดส์ล้มเหลว เพราะเราได้ผลักไสกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีออกจากการรับการตรวจรักษาพยาบาล อย่างที่คนเจ็บป่วยไม่สบายคนหนึ่งพึงได้รับ

______________________________________________________________________________

“เวลาพูดถึงคนติดเชื้อเอชไอวี คนจะนึกถึงภาพคนผอมแห้ง ดูน่ากลัว และไม่น่าจะมีชีวิตได้นาน แต่หนูก็มีชีวิตอยู่มา 29 ปี ใกล้จะ 30 แล้ว”


นี่คือคำบอกเล่าของเพื่อนใหม่ที่ผู้เขียนได้เจอ กับรูปลักษณ์ของเธอที่ดูตรงกันข้ามกับสิ่งที่เธอกำลังอธิบายเกี่ยวกับภาพของ “ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี” ที่คนทั่วไปในสังคมเข้าใจกัน ท่านผู้อ่านอาจจะมีความข้องใจเล็ก ๆ ทำไมไม่เรียกว่า “คนป่วยเอชไอวี” หรือ “คนเป็นเอดส์” เสียให้มันเข้าใจง่าย ๆ ?


นั่นก็เพราะความเข้าใจแบบเอาง่ายอย่างที่เราคุ้นเคยกันนี่ล่ะ ที่ทำให้เกิดการตีตราด้วยอคติที่มุ่งผลักไสคนจำนวนหนึ่งออกไปจากสังคม เพียงเพราะอาการเจ็บป่วยอาการหนึ่งเพียงเท่านั้น !!


จะมีใครเชื่อบ้าง ว่าเส้นทางชีวิตของผู้ที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ ไม่จำเป็นต้องไปใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่วัดพระบาทน้ำพุ หรือรอวันเวลาขึ้นเมรุเผาศพ ? และจะมีใครบ้างที่เข้าใจว่า “การติดเชื้อเอชไอวี” ไม่จำเป็นต้องเป็น “ผู้ป่วยโรคเอดส์” ?


ก่อนอื่นผู้เขียนขอชวนผู้อ่านกลับมาตั้งต้นความเข้าใจก่อนว่า เชื้อเอชไอวี หรือHuman Immunodeficiency Virus (HIV) คือเชื้อไวรัสตระกูลเรโทรไวรัส ที่จะส่งผลให้ “ระบบภูมิคุ้มกัน” (Immune System) ในร่างกายมนุษย์เกิดความบกพร่อง ล้มเหลวในการป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม เชื้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิต รวมถึงไวรัสอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ


สรุปคือ เชื้อเอชไอวี เป็นเชื้อที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายไม่มีภูมิที่จะต่อต้านเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ จนทำให้เกิดภาวการณ์เจ็บป่วยได้มากกว่าคนปกตินั่นเอง
ภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายล้มเหลวนี้เอง ที่ถือเป็นการป่วยโรคเอดส์ (AIDS มาจากการรวมกันของคำว่า Acquired, Immune, Deficity และ Syndrome รวมความก็จะแปลได้เป็น Acquired Immunodeficiency Syndrome อันหมายถึง “กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม” นั่นเอง)

ซึ่งถ้าหากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีนั้น ตระหนักรู้ถึงภาวะเสี่ยงของตนเอง ได้รับการตรวจพบเชื้อเอชไอวีอย่างรวดเร็ว ได้รับการรักษา รับยาต้านเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ ภูมิคุ้มกันของผู้รับเชื้อเอชไอวีนั้นก็จะไม่ถูกทำลาย เท่ากับว่า ภาวะภูมิคุ้มกันล้มเหลวหรือเอดส์ ก็จะไม่เกิดขึ้น


จริงอยู่ แม้เชื้อเอชไอวีจะไม่มีทางถูกกำจัดออกไปจากร่างกายของผู้ได้รับเชื้อ แต่ดังที่กล่าวไว้คือ หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที รับยาต้านเชื้ออย่างสม่ำเสมอ ภูมิคุ้มกันไม่เข้าสู่ภาวะล้มเหลว ผู้รับเชื้อก็จะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ตามอายุขัยเฉลี่ยของคนปกติ ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทุกประการ


ซึ่งหมายรวมถึงการตั้งครรภ์ มีบุตรด้วย ! (ในข้อนี้อาจควรต้องปรึกษาแพทย์ ซึ่งในความเป็นจริง คนปกติทั่วไปทุกคนที่ตั้งใจจะมีบุตร ก็ควรต้องไปพบแพทย์ พร้อมกับคู่นอน คู่ชีวิต คู่สมรสของตนก่อนอยู่แล้ว แต่ก็เป็นข้อปฏิบัติที่เรามักจะละเลยกันมาตลอด) แม้ว่าผู้ได้รับเชื้อจะยังคงมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย แต่การทานยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ตรงเวลา จะสามารถกดจะสามารถกดปริมาณไวรัสให้ต่ำลงได้ จนถึงระดับที่มีปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดต่ำมาก คือ ต่ำกว่า 200 copies ต่อซีซีของเลือด หรือที่เรียกว่า “ตรวจไม่เจอ (Undetectable) นั่นคือการที่แม้ผู้นั้นจะยังคงมีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย แต่ก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อ(Transmit)ได้ แม้จะมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “U = U” (Undetectable = Untransmittable)

และนี่ก็คือที่มาของการที่วันนี้เราเริ่มใช้คำว่า “ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี” ดังที่ผู้เขียนกล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง หมายถึงการที่แม้พวกเขาจะยังคงมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย ต้องมีการทานยาต้านเชื้อตลอดชีวิต แต่ก็ไม่ได้เป็นภาวะที่จะมีอันตรายแก่ผู้อื่น และเอชไอวีในร่างกายก็ไม่ได้เป็น “พันธนาการ” แก่การใช้ชีวิตอย่างคนปกติของตนเอง


อธิบายมาดังนี้ ก็อาจมีคำถามตามมาว่า แล้วถ้าผู้ได้รับเชื้อเอชไอวี จนเข้าสู่ภาวการณ์เป็นเอดส์ หรือภาวะภูมิคุ้มกันล้มเหลวแล้ว เขาจะต้องเตรียมตัวเข้าสู่ภาวะของการรอวันตายเท่านั้นหรือไม่ ?


ประเด็นนี้ เคยเป็นสิ่งที่ท้าทายความคิด ความเข้าใจของสังคมมาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กที่ผู้เขียนพอจำความได้ ผู้เขียนเติบโตมากับโฆษณาโทรทัศน์ด้วยคำขวัญที่ว่า “เอดส์...เราอยู่ร่วมกันได้” (เรื่องนี้เกิดในยุคที่โทรทัศน์เป็นสื่อที่ทันสมัยและทรงพลังที่สุดแล้ว อย่าถามหา Big Data หรือว่า Social Media ที่สำคัญคือ ยุคนั้นคลื่นวิทยุโทรทัศน์ มีจัดสรรไว้สำหรับหน่วยงานรัฐและเหล่าทัพเท่านั้น!)

ซึ่งผู้เขียนเพิ่งมาทราบความจริงในภายหลังว่า กว่าสังคมไทยจะเดินทางมาถึงจุดที่ภาครัฐมีโฆษณาออกมาแบบนั้นได้ ก่อนหน้านั้น เคยมีผู้มีอำนาจในระดับนโยบาย มีอำนาจทางความรู้ในการชี้นำสังคม คิดถึงขั้นจะให้ประเทศไทยมี “นิคมกักกันผู้ป่วยโรคเอดส์” มาแล้ว โชคยังดี ที่การทำงานของมดงานเล็ก ๆ ในสังคมไทย ที่เรียกว่า “ภาคประชาสังคม” (หรือเราอาจจะเรียกว่าเอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชนบ้าง ก็แล้วแต่) มีความแข็งขันเพียงพอจนสามารถหักล้างกับแนวคิดการแก้ปัญหาแบบอำนาจนิยมเช่นนั้นได้


ที่สำคัญกว่า คือการหักล้างความเชื่อที่ว่า การเป็นเอดส์ คือจะต้องมีชีวิตเพื่อรอความตายเท่านั้น

ก่อนอื่นผู้เขียนขออธิบายก่อนว่า คนเป็นเอดส์ที่ตายนั้น ไม่ได้ตายเพราะเป็นเอดส์ !


คนเป็นเอดส์ที่ตายนั้น ตายเพราะการที่มีโรคแทรกซ้อน หรือศัพท์ในวงการเรียกว่า “โรคติดเชื้อฉวยโอกาส” อันเป็นผลจากการที่เมื่อภูมิคุ้มกันล้มเหลวแล้ว คนเป็นเอดส์จึงมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคจากเชื้อต่าง ๆ ได้มากกว่าคนปกติ โรคติดเชื้อฉวยโอกาสนั้นมีมากมาย แต่ที่พบได้บ่อยและมักปรากฏอาการของโรคชัดเจน ก็อาจจะอย่างเช่น วัณโรค เริม ติดยีสต์ในปาก งูสวัด หูดบริเวณอวัยวะเพศ เป็นต้น


การตายของคนเป็นเอดส์ มักตายด้วยโรคเหล่านี้ที่เข้ามาฉวยโอกาสเมื่อภูมิคุ้มกันล้มเหลว


แต่ข้อที่ต้องพิจารณากันให้ดีคือ โรคติดเชื้อฉวยโอกาสทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นโรคที่คนปกติก็สามารถป่วยเป็นโรคเหล่านี้ได้ และป่วยเป็นโรคเหล่านี้ได้ฉันใด ก็สามารถรักษาอาการป่วยได้ฉันนั้น ผู้อยู่ในภาวะเอดส์ หากป่วยเป็นด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาสต่าง ๆ แล้วได้รับการรักษาพยาบาลตามโรคที่ป่วยอย่างถูกต้อง ทันการณ์ ก็สามารถหายป่วยได้ดังเช่นคนปกติ และขณะเดียวกัน ภาวะเอดส์หรือภูมิคุ้มกันล้มเหลวนั้น ก็สามารถฟื้นฟูได้ด้วยการทานยาต้านเชื้อ เอชไอวีอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายกลับมาสู่ภาวะ U = U ดังที่กล่าวไว้แล้วได้ด้วยเช่นกัน

สรุปคือ คนเป็นเอดส์ สามารถฟื้นฟูตนเองได้ ด้วยการรับการรักษาพยาบาลโรคติดเชื้อฉวยโอกาสอย่างถูกต้อง ไปพร้อม ๆ กับการทานยาต้านเชื้อเอชไอวี เพื่อให้เกิดภาวะ U = U ก็จะทำให้กลับกลายมาเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่สามารถใช้ชีวิตดังเช่นคนปกติทุกประการดังที่ได้กล่าวไว้


คงน่าเสียดายนัก หากว่าในวันนี้ ที่การสื่อสารเป็นเรื่องไร้พรมแดน และความสามารถในการสื่อสาร เข้าถึงความรู้ ยังมีพลังไม่เพียงพอที่จะหยุดการอคติตีตราเพื่อนมนุษย์ของเรา ต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี


ความหวาดกลัวที่ยังคงอยู่ด้วยภาพจำเดิม ๆ ทำให้การที่ใครสักคนจะอยากทราบว่าตนเองมีแนวโน้มที่จะได้รับเชื้อเอชไอวีแล้วหรือไม่? แลดูเป็นเรื่องที่ผิดบาป น่าละอายนัก หากคุณป่วยเป็นหวัด คุณก็เพียงบอกคนรอบข้างว่าเป็นหวัด แล้วก็ไปหาหมอ แต่สำหรับการอยากจะไปหาหมอ เพื่อที่จะได้รู้ว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ กลับไม่สามารถทำกันได้ง่าย ๆ แบบนั้น+ลองนึกภาพว่า ถ้าเป็นตัวคุณเอง หากคุณเป็นผู้อยู่กับเอชไอวี หรือรู้สึกว่าตนเองมีแนวโน้มที่จะได้รับเอชไอวีมา คุณกล้าที่จะบอกที่ทำงาน บอกโรงเรียนของคุณ เพื่อขอลาไปพบแพทย์หรือรับยาตามนัดหรือไม่ ?


เชื่อว่าร้อยทั้งร้อย คงไม่กล้าที่จะบอก เพราะเกรงว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน หรือการได้เรียนต่อ

หากจุดเริ่มต้นเพียงเท่านี้ยังเป็นเรื่องยากแล้ว ในระดับของตัวคุณเอง ผู้เขียนอยากให้คุณลองนึกภาพตามว่า แล้วในระดับภาพรวมของประเทศ หากการที่คนกลุ่มเสี่ยงทั้งประเทศจะไปพบหมอด้วยเรื่องเอชไอวีหรือเอดส์ มันเป็นเรื่องที่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เดินเข้าโรงพยาบาล เดินเข้าคลินิกอย่างเปิดเผย ทำเรื่องลางาน ลาเรียนตามปกติเหมือนคนเป็นหวัดไม่ได้ แล้วจะมีคนที่มีแนวโน้มเสี่ยงสักกี่คน ที่จะได้ไปพบหมอ เพื่อได้รู้ว่าตนเองรับเชื้อเอชไอวีแล้วหรือยัง? . . . ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงในการรับเชื้อเอชไอวีในประเภทผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีการฉีด(PWID) ที่ใช้เข็มฉีดยามาฉีดสารเสพติดร่วมกันกับผู้อื่นแล้ว แนวนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดของประเทศเราที่มุ่งการจับกุมเพื่อดำเนินคดี มากกว่าการนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดในฐานะ “ผู้ป่วย” ยิ่งเป็นปัจจัยที่ผลักประชากรกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ออกไปจากระบบการตรวจเพื่อให้การรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องทันท่วงทีไปเสียอีก!


เมื่อเขาไม่รู้ว่าตนเองมีเชื้อ เพราะไม่กล้าไปตรวจ ไม่ได้เข้ารับการตรวจ ก็ไม่ได้เข้ารับการรักษา เมื่อไม่ได้รับการรักษา นั่นก็คือการที่พวกเขากำลังเดินหน้าสู่ภาวะที่ตนเองอาจจะต้องตายด้วยการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสแล้ว พวกเขายังมีความเสี่ยงที่จะส่งต่อแพร่เชื้อให้กับคนอื่นด้วย !!!


นอกจากความหวาดกลัวที่แสดงออกอย่างชัดเจนต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ที่ส่งผลต่อแรงจูงใจในการทำให้คนไม่กล้าเข้ารับการบริการตรวจหาเชื้อ ตรวจรักษาอย่างเปิดเผย มีสิทธิเสรีแล้ว ยังมีความหวาดกลัวอีกรูปแบบคือ การละเมิดสิทธิ ผ่านการกำหนดให้เข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อเอาผลการตรวจร่างกายประกอบการเข้าทำงานในสถานประกอบการ แล้วมีการ “แอบ” ตรวจหาเชื้อเอชไอวีในเลือด โดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้สมัครเข้าทำงานก่อนด้วย

วันนี้ พวกเราไม่ได้ตระหนักรู้เลยว่า ค่านิยมความหวาดกลัวแบบผิด ๆ นี่ต่างหาก ที่จะทำให้เราไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีได้ ความหวาดกลัวแบบผิด ๆ นี้ทำให้การบรรลุเป้าหมายระดับโลก “95 – 95 – 95” (95% ของกลุ่มเสี่ยงตรวจพบเชื้อ 95%ของผู้มีเชื้อได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง 95%ของผู้ได้เข้ารับการรักษาพยาบาลสามารถดูแลตนเองจนใช้ชีวิตได้ปกติโดยไม่แพร่เชื้อต่อ) โดยหวังให้การระบาดของเอดส์เป็นศูนย์(Getting to Zero) ภายในปี2030 (หลังจากที่เคยเลื่อนกำหนดมาแล้ว) ยิ่งกลายเป็นเรื่องห่างไกลขึ้นไปอีก


ผู้เขียนอยากเชิญชวนให้ทุกคน ลองปรับมุมมองใหม่ การเปิดใจ ให้โอกาส โอบรับเพื่อนผู้อยู่กับเชื้อเอชไอวี ให้พวกเขาอยู่ร่วมกับพวกเราได้โดยไม่ถูกกีดกัน เราไม่รังเกียจเขา เขาไม่กลัวว่าเราจะไม่ยอมรับ นี่คือแรงจูงใจสำคัญ ที่จะดึงให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่อยู่รอบตัวเรา ให้เกิดความตระหนักแล้ว อยากเข้ารับการตรวจเพื่อป้องกัน บำบัดรักษามากขึ้น


และหากนำไปสู่การที่ประเทศเรา เปลี่ยนแนวคิด แนวปฏิบัติต่อผู้ใช้สารเสพติดด้วยการโอบรับ แก้ไขข้อกฎหมายที่มุ่งการจับกุมเพื่อลงโทษ มาเป็นการมุ่งจูงใจให้เขาเดินเข้าหาการบำบัดผ่านกระบวนการลดผลกระทบจากการใช้สารเสพติด(Harm Reduction)มากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากกระบวนการลดผลกระทบจากภาวะร่างกายต้องการสารเสพติดจนเข้าสู่ระดับอันตรายแล้ว ยังมีเรื่องการลดความต้องการใช้สารเสพติดไปพร้อม ๆ กับการใช้อุปกรณ์ในการเสพ(เข็มฉีดยา)ที่สะอาด ปลอดภัย ไม่มีการใช้ร่วมกับผู้อื่น โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลสุขอนามัยด้วย


โดยที่สิ่งเหล่านี้ ภาคประชาสังคมในไทยได้พยายามดำเนินการมาอย่างยาวนานต่อเนื่องอยู่แล้ว ทั้งคลินิกพริบตา(โดยIHRI), สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย, มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ(SWING), มูลนิธิรักษ์ไทย, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ฯลฯ โดยมุ่งหวังทำให้ผู้อยู่ร่วมเอชไอวีปัจจุบันได้เข้าสู่ภาวะ U=U ไปพร้อมกับการยุติผู้ติดเชื้อรายใหม่


วันนี้ก็เหลือแต่เพียงว่าพวกเรา พร้อมที่จะเปิดใจต้อนรับเพื่อนผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ในฐานะ “คนไม่สบาย” ที่ต้องการแค่การหาหมอ กินยา แล้วกลับมาใช้ชีวิตปกติอย่างมีความสุขแบบที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี เหมือนพวกเรา ๆ แล้วหรือยัง?