ระบบหลักประกันสุขภาพที่ “ล่อแหลม” และล้วนเต็มไปด้วยผู้คนที่ “ตกหล่น” บนสถานการณ์การเมืองที่ยังรวนเร

หากพูดถึงระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยในปัจจุบันสำหรับบุคคลสัญชาติไทย ที่ใช้สิทธิพึงมีจากทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการแล้ว “หลักประกัน” เหล่านั้น ครอบคลุมไปถึงคน “ไม่มีสัญชาติไทย” กลุ่มต่างแบบมีเงื่อนไขด้วย

เช่น แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงาน จะถูกให้อยู่จัดให้อยู่ในระบบประกันสังคม ดำเนินการโดยกระทรวงแรงงาน อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบพบว่า จากจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนในระบบของกระทรวงแรงงานจำนวนกว่า 2.5 ล้านคน นั้น มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเพียง 1,056,485 คน และอยู่ในระบบประกันสุขภาพ แรงงานต่างด้าว (รวมถึงผู้ติดตาม ผู้ลี้ภัยในเขตเมืองที่ซื้อประกันสุขภาพ) 780,446 คน ซึ่งเท่ากับว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงานกลุ่มนี้ตกหล่น ยืนอยู่บนภาวะ “ล่อแหลม” ที่ไร้หลักประกันสุขภาพมากกว่าครึ่งล้านคน

สำหรับแรงงานข้ามชาติที่อยู่นอกระบบประกันสังคมรวมทั้งผู้ติดตาม จะถูกผลักดันให้เข้าสู่ช่องทางการซื้อประกันสุขภาพ ด้วยตนเอง ซึ่งรายละเอียดการซื้อแต่ละโรงพยาบาล แต่ละภูมิภาคประทั่งรายจังหวัดนั้นก็ยังพบปัญหา “ไม่ขาย” บัตรประกันสุขภาพนี้ให้กับแรงงานและผู้ติดตาม

สำหรับคนไร้สัญชาติ ซึ่งได้รับการจัดทำทะเบียน กลุ่มเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วย 6, 7 และ กลุ่ม 0-89 หรือ ภายใต้นิยาม “ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิจะได้บการรับรองสิทธิในหลักประกันสุขภาพ ประเภท “ท.99” ที่ดำเนินการโดย กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขและเป็นที่ทราบดีว่าในทุกการเบิกจ่ายอาจไม่ได้ทันท่วงที และต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้สิทธิ

นอกจากนี้ ประเทศไทยที่รัฐไม่ยอมรับว่ามีกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองเอง ก็ยังคงมีผู้ลี้ภัยในเขตเมือง, แรงงานข้ามชาติทั่วไป และผู้ต้องขังที่มีปัญหาสถานะบุคคลรวมถึงแรงงานข้ามชาติในเรือนจำ ที่แม้จากทั้งหมดจะถูกจัดให้เข้าสู่ช่องทางการซื้อประกันสุขภาพด้วยตนเอง แต่ในทางปฏิบัติก็พบข้อจำจัดมากมาย ทั้งเกี่ยวเนื่องกับบุคคล และสถานบริการ รวมทั้งข้อจำกัดทางสังคมที่ทำให้พวกเขายอมจำนนที่จะอยู่อย่างไร้หลักประกันสุขภาพ

เหล่านั้นยังไม่นับรวมถึงปัญหาเมื่อประเทศเข้าสู่วิกฤตด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นชุดสิทธิประโยชน์ ของผู้รับบริการที่เกิด “ช่องว่าง” จนเป็นที่สงสัยว่า “เป็นการเลือกปฏิบัติ” อย่างไม่เป็นธรรม หรือ “รัฐลำเอียง?” ...โดยเฉพาะกับแรงงานข้ามชาติในระบบหลักประกันสุขภาพ จากกรณี “ม.33 เรารักกัน” ทั้งที่รัฐบาลประกาศนโยบายเยียวยาลูกจ้างผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่กำหนดเงื่อนไขว่า “เฉพาะผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ที่สัญชาติไทยเท่านั้น” ที่สามารถเข้าถึงเงินชดเชยเยียวยา จำนวนคนละ 4,000 บาท แม้ท้ายที่สุดจะมีความพยายามจากองค์กรภาคประชาสังคม ที่ร้องเรียน รวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติให้ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกัน แต่ผลสิ้นสุดเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตีความว่า การที่รัฐบาลกำหนดให้เฉพาะลูกจ้างผู้ประกันตนที่มีสัญชาติเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงการเยียวยาตาม “โครงการ มาตรา 33 เรารักกัน” นั้น ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ

กับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะพบข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยยังล้วนเต็มไปด้วยผู้คนที่ “ตกหล่น” ในระบบหลักประกันด้านสุขภาพ จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้...แม้รัฐบาลที่ว่าถึงนั้น ยังไม่ได้เริ่มต้นจัดตั้งกันจริงจังเสียที