มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
Foundation for AIDS Rights THAILAND
ถ้าใครสักคนพ้นโทษจำคุก เขาควรได้รับโอกาสในชีวิตและการทำงานอีกครั้งไหม ? หรือมีหลักเกณฑ์ข้อไหนที่จะช่วยอธิบายได้ ?
หากว่ากันตามหลักการสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิและสงเคราะห์ผู้พ้นโทษหลังจำคุกควรเป็นไปตามกฎกติกาสากลรวมถึงหลักความยุติธรรมและหลักนิติธรรม ในปี พ.ศ. 2497 ประเทศไทยเคยมี พ.ร.บ. สงเคราะห์บุคคลผู้ที่ได้รับพักการลงโทษ ผู้พ้นโทษ และเด็กผู้พ้นการฝึกอบรม แต่ในช่วงเวลานั้น กลับยังไม่มีการคุ้มครองในเชิงปฏิบัติอย่างจริงจัง และในที่สุด พ.ร.บ. นี้ก็ถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2499 ถัดจากนั้นมา สังคมไทยไม่ได้เปิดกว้างและไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับกับสภาวะเลิกพ้นโทษ พูดง่าย ๆ คือ ยังไม่มีการช่วยเหลือผู้พ้นโทษที่ไม่ได้กระทำความผิดซ้ำและต้องการกลับมาประกอบอาชีพเพื่อดำเนินชีวิต
รวมทั้งไม่มีการบัญญัติว่า ‘ผู้พ้นโทษกลุ่มเป้าหมาย’ ที่กฎหมายควรให้ความคุ้มครองหมายถึง ‘ใคร’ บ้าง
แน่นอนว่าความหละหลวมเช่นนี้กลายเป็นปัญหาซ้ำ ๆ เพราะมันบดบังโอกาสการกลับคืนสู่สังคมของผู้พ้นโทษ และได้กลายเป็นที่มาของเคสล่าสุด ซึ่งมูลนิธิคุ้มครองศูนย์สิทธิด้านเอดส์กำลังให้ความช่วยเหลืออยู่ ผู้ขอรับความช่วยเหลือรายนี้เคยต้องโทษคดีอาญาและถูกจำคุกมาก่อน เมื่อเขาพ้นโทษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงกลับมาทำงานเลี้ยงชีพ
กระทั่งมีประกาศรับสมัครงานพนักงานจ้างทั่วไปของหน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่ง เขาจึงสมัครงานและได้เข้าไปทำงานอยู่นานถึงหนึ่งเดือน ก่อนจะรับทราบภายหลังว่า บริษัทไม่สามารถรับคนเคยต้องโทษจำคุกเข้าทำงาน เมื่อบริษัทล่วงรู้จึงได้พยายามให้เขาลาออก เนื่องจากเรื่องนี้อาจเกี่ยวพันกับการละเมิดสิทธิการเข้าทำงานของผู้พ้นโทษ มูลนิธิฯ ซึ่งได้รับเรื่องจึงประสานกับทางสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ดูแลประเด็นสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ ทั้งยังคอยติดตามและมีนโยบายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของผู้พ้นโทษ
หลายหน่วยงานในไทยมีกฎระเบียบไม่รับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน และหลายกรณีก็เจอปัญหาฐานข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน บุคคลที่พ้นโทษมานานแล้วยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้พวกเขาไม่สามารถสมัครเข้าทำงานที่ใดได้
นับตั้งแต่ปีที่แล้ว กสม. จึงร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากการแยกประเภทของบุคคลจำคุกระหว่าง ‘ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณา’ และ ‘บุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด’ เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการวางขอบเขตคุ้มครองผู้พ้นโทษ แก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนให้รัดกุมและยุติธรรม
นอกจากนี้ยังมีการแยก ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา ทะเบียนประวัติอาชญากร และทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร ออกจากกัน หลังการแยกประเภทถูกดำเนินการเรื่อยมา ผู้พ้นโทษหลายเคสก็ได้รับความยุติธรรม สามารถลบประวัติอาชญากรของผู้ที่พ้นโทษได้นับล้านราย
สำหรับเคสข้างต้นที่มูลนิธิฯ รับเรื่องเข้ามา ตอนนี้อยู่ในช่วงพิจารณาของ กสม. ว่าจากประเด็นข้อกฎหมายและระเบียบของหน่วยงานนั้นๆ จะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า และถ้าใช่ ควรมีแนวทางอย่างไรต่อไป เพราะไม่ใช่แค่กรณีรับเข้าทำงานเท่านั้น หากยังหมายรวมถึงโอกาสเข้าถึงการรักษา เข้าถึงบริการสาธารณสุข การศึกษา และอื่นๆ ในประเทศเราอาจยังมีผู้คนอีกมากที่กำลังถูกริดลอนโอกาสในการกลับตัวกลับใจ กลับมาสู่สังคม